
ช่วงนี้เป็นฤดูฝนแล้ว ปัญหาที่ตามมาเลยก็คือ จะมีการรั่วซึมของผนังหรือดาดฟ้า ทำให้เกิดปัญหากวนใจเราตามมามากมาย เช่น เฟอร์นิเจอร์เสียหายหรือที่หนักๆเลยก็ไม่สามารถใช้อาศัยได้ซึ่งนั้นจำเป็นต้องทาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เกิดปัญหาละ สีกันซึมจำเป็นต้องทาไหม เพราะฉะนั้นวันนี้เราไปหาคำตอบกันครับ
สีกันซึม จำเป็นต้องทาไหม

สีกันซึมจำเป็นต้องทาไหม คำตอบนี้ คือ จำเป็นต้องทาครับ เนื่องจากว่าถึงแม้บริเวณที่ใช้งานอาจจะไม่ใช้ห้องนอน ห้องนั่งเล่นแต่ถ้าบริเวณที่เป็นกันสาดคอนกรีต การไม่ทาปัญหาที่จะตามมา คือ น้ำจะซึมเข้าสู่พื้นคอนกรีตทำให้เหล็กเสริมเป็นสนิมเกิดปูนระเบิดและยิ่งไปกว่านั้น ถ้าปล่อยไว้นานๆอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างทำให้เสียหายได้ ดังนั้นควรที่จะทำระบบกันซึมนั้นเอง
ขั้นตอนการทาสีกันซึม
1.สำรวจบริเวณที่เกิดน้ำรั่วซึม

ปกติบริเวณจุดที่มีปัญหาน้ำรั่วซึมให้สังเกตง่ายจะเป็นบริเวณที่มีรอยแตกร้าวที่เกิดบนพื้นคอนกรีตหรือบริเวณผนังบ้าน ในกรณีที่เป็นดาดฟ้าจุดที่จะรั่วซึมก็จะมีบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำอีกจุดหนึ่ง(จุดที่เป็นแอ่งจะมีคราบราตะไคร่ขึ้นอยู่ครับ)
2.ทำควาสะอาดพื้นผิว

การทำความสะอาดพื้นผิวนั้น ถ้าจะให้ดีเลยต้องใช้เครื่องฉีดน้ำเเรงดันสูง water jet (แบบเดียวกับที่ล้างรถ) ฉีดล้างทำความสะอาด เเต่ถ้าหากพื้นเดิมมีการทาสีกันซึมอยู่ก่อนเเล้ว ให้เราขูดลอกฟิล์มสีเดิมที่เสื่อมสภาพ ลอกล่อน ออกให้หมดที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้สีใหม่ที่ทาเกิดการลอกล่อนในอนาคต
3.ปรับพื้นผิวให้ลาดเอียง

การปรับสโลปอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะสามารถทำเองได้แนะนำว่า ให้หาผู้เชี่ยวชาญมาทำให้ดีกว่า เพราะถ้าหากพื้นผิวเป็นเเอ่งเวลาฝนตกจะทำให้เกิดน้ำขังและจะทำให้สีกันซึมที่ทาเกิดการลอกล่อนเสียหายขึ้นได้ หรือ ถ้าสีกันซึมที่เราจะใช้เป็นประเภทโพลียูริเทนขั้นตอนนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำครับ
4.อุดโป๊วรอยเเตกร้าว

หลังจากปรับสโลปพื้นที่เสร็จแล้วให้ทำการอุดโป๊วรอยแตกร้าว โดยให้ทำการซ่อมโดยวิธีการขยายร่องให้กว้างสัก 2-3 มิลลิเมตร จากนั้นอุดโป๊วด้วย PU SEALANT ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงและมีความสามารถในการป้องกันการรั่วซึมของน้ำด้วย
5.ทาสีรองพื้น
หลังจากอุดโป๊วรอยเเตกร้าวเสร็จเเล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ขั้นตอนการทาสีรองพื้น สีรองพื้นที่เลือกใช้คือ สีรองพื้นปูนเก่าที่เป็นสูตรน้ำมัน ทาไปบนพื้นผิว 1 เที่ยว ทิ้งให้เเห้ง 2-3 ชั่วโมง ก่อนทาสีกันซึม
6.ทาสีกันซึม

ผลิตภัณฑ์สีกันซึมในบ้านเราหลายยี่ห้อ หลายเกรด เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ สีกันซึมนั้น ควรศึกษาข้อมูลให้ชัดเจน ว่าสีเเต่ละประเภทนั้น มีข้อดีข้อเสียยังไง เช่น
วัสดุกันซึมประเภทอะคลิลิค เป็นสีกันซึมแบบทั่วไปที่ใช้ๆกัน เเต่จะมีข้อจำกัด คือ ต้องทำบนพื้นที่ลาดเอียงหรือพื้นที่ที่ไม่ใช่เเอ่งน้ำ เพราะวัสดุประเภทนี้จะไม่สามารถทนน้ำขังได้นานๆ จะทำให้บวมพองลอกล่อนได้ครับ
วัสดุกันซึมประเภทโพลียูรีเทน วัสดุประเภทนี้จะตอบโจทย์ในส่วนของวัสดุกันซึมด้านบน ก็คือ สามารถทนน้ำขังได้ประมาณ 1 เดือน มีความยืดหยุ่นสูง มีอายุการใช้งานที่นานกว่า แต่ราคาจะแพงกว่าสีกันซึมแบบอะคริลิกประมาณ 2 เท่าครับ